COLUMNIST

ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากนโยบายภาครัฐ
POSTED ON -


 

อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเสมอ แม้ว่าการกระทำเหล่านั้นจะถูกคิดวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม จากความจริงข้อนี้จะเห็นได้ว่าเราทุกคนควรที่จะคิดให้รอบคอบเสียก่อนที่จะลงมือทำอะไรเพื่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบต่อตัวเองและสิ่งต่างๆ รอบตัวเราให้น้อยที่สุด

 

ในด้านการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลก็เช่นเดียวกัน คนเราจะต้องรู้จักคิดวางแผนว่าจะใช้จ่ายเงินอย่างไร ไม่เช่นนั้นเราอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบแง่ลบของการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง

 

ทางด้านกิจการก็เช่นเดียวกัน กิจการควรมีการวางแผนในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเริ่มดำเนินการในสิ่งใดก็ตาม อาทิ การเปิดสาขาใหม่ การเพิ่มสายการผลิต การสร้างโรงงาน หรืออะไรอีกมากมาย กิจการควรวางแผนให้รัดกุมที่สุดว่าจะกู้ยืมเงินในสัดส่วนใด? โครงการต่างๆ เหล่านั้นมีความคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่? เพื่อลดความเสี่ยงของกิจการที่จะประสบปัญหาการขาดทุน 

 

ไม่เพียงเท่านั้น การออกนโยบายภาครัฐก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันคิดและวางแผนให้นโยบายที่จะออกมานั้นเกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ภาคเอกชน และประชาชนให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันนโยบายที่จะออกมาก็จะต้องส่งผลกระทบเชิงลบแก่คนเหล่านั้นให้น้อยที่สุดด้วย ทั้งนี้ เพราะนโยบายที่ออกมาจากภาครัฐจะมีความครอบคลุมและจะถูกนำไปใช้กับคนทั้งประเทศ การออกนโยบายในแต่ละครั้งภาครัฐจึงควรคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ และไม่ควรที่จะออกนโยบายที่ส่งผลดีแต่กับเฉพาะกับคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะการออกนโยบายเช่นนั้นอาจส่งผลกระทบในเชิงลบไปยังทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แท้จริงแล้วนโยบายที่ออกมาจากภาครัฐที่ประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่มากมาย และเป็นนโยบายที่สามารถช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงยังช่วยให้ภาคเอกชนและประชาชนมีผลการดำเนินการและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีนโยบายบางอย่างที่นอกจากจะมีประโยชน์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กิจการต่างๆ รวมไปถึงประชาชนอีกด้วย

 

จากการที่ได้ลองพิจารณาดูพบว่านโยบายของรัฐในระยะหลังๆ นี้ บางนโยบายส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยนโยบายแรกที่จะกล่าวนั่นก็คือ “การรับจำนำข้าว” แน่นอนว่าการรับจำนำข้าวนั้นมีข้อดีตรงที่ชาวนาสามารถนำข้าวไปจำนำ (แต่จากวิธีการปฏิบัติแล้ว นโยบายนี้ไม่ได้เป็นการจำนำเท่าที่ควร แต่เป็นการไปขายข้าวให้แก่รัฐบาลมากกว่า) โดยชาวนาจะได้ราคาที่ดี และแน่นอนว่าราคานั้นดีกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน

 

มองเผินๆ แล้วดูเหมือนว่านโยบายนี้ได้เพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ชาวนา แต่พอมองลึกลงไปก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย และยิ่งไปกว่านั้นนโยบายนี้กลับดูมีข้อเสียที่มากกว่าข้อดีอีกต่างหาก และยังอาจส่งผลเสียแก่ชาวนาเองด้วยในอนาคต เหตุผลมาจากการรับจำนำข้าวได้ทำลายสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในระบบธุรกิจ นั่นก็คือ “กลไกตลาด” ลงอย่างสิ้นเชิง เพราะราคาข้าวจะไม่เป็นไปตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ (Demand–Supply) อีกต่อไป

 

รัฐรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่สูง รัฐก็ย่อมจะต้องปล่อยข้าวออกขายในราคาที่ไม่ต่ำไปกว่านี้แน่นอน ผลที่ได้คือข้าวไทยราคาแพงกว่าประเทศอื่น จนผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นกันหมด สิ่งนี้ทำให้รายได้ที่จากการส่งออกข้าวลดต่ำลงเพราะปริมาณข้าวขายได้ลดลง อีกทั้งถ้ารัฐต้องการขายข้าวรัฐอาจจำเป็นต้องขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าที่รับซื้อมาส่งผลให้ประเทศขาดทุนจากการดำเนินการ ต่อมาข้าวที่ขายไม่ได้จำเป็นต้องถูกเก็บไว้เพื่อรอราคาตลาดที่ดี แต่ในระหว่างที่เก็บไว้นั้นข้าวบางส่วนเริ่มเน่าเสียจนต้องหาวิธีมาป้องกันนั่นก็คือการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันแมลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

 

นอกจากนี้ ยังมีคนบางกลุ่มหาประโยชน์โดยมิชอบ (corruption) จากเรื่องนี้ โดยขายข้าวในราคาต่ำแก่พวกพ้องของตัวเอง อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องก็คือผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มมองว่าข้าวไทยไม่มีคุณภาพ มีสารปนเปื้อน ซึ่งชื่อเสียงด้านลบนี้ส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใดที่ไม่มีการรับจำนำข้าวอีกต่อไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวงจรนี้ภาครัฐเองมีแต่เสียประโยชน์ ประชาชนเองก็เสียประโยชน์ และแน่นอนว่ากิจการที่ทำธุรกิจค้าข้าวหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

 

อีกหนึ่งนโยบายที่ถูกมองว่าส่งผลผลกระทบไม่น้อยต่อระบบเศรษฐกิจนั่นก็คือนโยบายรถคันแรก แท้จริงมีประชาชนมากมายที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้ เพราะสามารถซื้อรถยนต์ได้ถูกลงไปพอสมควร แต่นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้วการออกนโยบายนี้ยังส่งผลกระทบในอีกหลายแง่มุม

 

เริ่มจากนโยบายรถคันแรกเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อโดยไม่จำเป็น มีผู้บริโภคที่ใช้สิทธิจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความพร้อมในการมีรถยนต์ แต่ก็ยังพยายามหาทางซื้อเนื่องจากคิดว่าจะได้รถยนต์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติ ซึ่งผู้ที่ไม่มีความพร้อมเหล่านี้ในปัจจุบันบางส่วนเริ่มประสบปัญหาทางการเงินกันแล้ว เห็นได้จากยอดการชำระคืนเงินกู้ส่วนบุคคลนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ระยะเวลาเฉลี่ยในการชำระคืนเงินกู้กลับนานมากขึ้น

 

คนบางกลุ่มถึงกับต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ เพราะไม่อยากขาดส่งการผ่อนชำระเงินค่ารถ และเพียงไม่กี่เดือนก็จะถูกบริษัทลีสซิ่งยึดรถนั่นเอง ในขณะที่อีกหลายคนได้ขายรถยนต์ต่อให้กับผู้อื่นหรือขายให้กับเต็นท์รถในราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นนอกจากจะไม่ได้สิทธิ์รถยนต์คันแรกแล้วยังขาดทุนจากราคาขายรถอีกด้วย

 

กิจการที่ทำธุรกิจปล่อยกู้เองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการที่ผู้กู้เริ่มขาดส่ง ทำให้ปริมาณหนี้เสียของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้านกิจการลีสซิ่งเองก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากราคารถยนต์ตกลงเร็วมาก เมื่อยึดรถมาก็ไม่สามารถขายออกไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้กิจการขาดทุน

 

นอกจากผลกระทบที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว กิจการที่ดำเนินธุรกิจอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กิจการที่ขายสินค้าแฟชั่น สินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มประสบปัญหายอดขายลดลง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าประเภทนี้ลง เพราะต้องนำเงินไปผ่อนรถยนต์คันแรกนั่นเอง การซื้อสินค้าประเภทนี้จึงกลายมาเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผู้บริโภคสนใจ

 

จากการที่ยอดขายสินค้าดังกล่าวลดลง ทำให้กิจการที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอเริ่มทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้หนี้สินที่กิจการนี้มีอยู่ไม่ถูกชำระอีกต่อไป กลายมาเป็นหนี้เสียของอีกกิจการหนึ่ง และเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และไอทีหลายยี่ห้อ และได้รับข้อมูลที่ตรงกันว่าสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจนี้ประสบปัญหาอย่างมากมาจากสินค้าประเภทนี้มีวงจรชีวิตที่สั้นมาก ดังจะเห็นได้ว่าคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือนั้นออกรุ่นใหม่ๆ ที่ดีกว่าอยู่เรื่อยๆ จนบางครั้งสินค้าที่เราซื้อมาเพียงไม่กี่เดือนกลายเป็นของตกรุ่นไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาจึงตกอยู่ที่กิจการประเภทนี้ เพราะจำเป็นที่จะต้องมีสินค้าในร้านให้ครบทุกรุ่นในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่เมื่อความต้องการของผู้บริโภคลดต่ำลงอย่างนี้ สินค้าจึงเหลือค้างอยู่ในสต็อก และสินค้าที่ตกรุ่นเหล่านี้ก็ขายไม่ได้อีกต่อไป เมื่อขายของเก่าไม่ได้ก็ไม่มีเงินไปซื้อสินค้าใหม่ที่เข้ามา นั่นคือสาเหตุที่ทำให้กิจการต้องปิดตัวลง

 

จากนโยบายที่คาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศกลับกลายเป็นยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความผันผวน ไม่เพียงเท่านี้ยังส่งผลให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนลำบากขึ้นไปอีก เนื่องจากรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในขณะที่ภาครัฐปิดถนนบางส่วนเพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ถนนจึงยิ่งมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน

 

จะเห็นได้ว่านโยบายที่ดูเหมือนจะไกลตัวสำหรับบางอุตสาหกรรมก็ยังสามารถเชื่อมโยงและส่งผลกระทบได้ เพราะฉะนั้นกิจการควรให้ความสนใจต่อทุกนโยบายของรัฐ เพื่อให้กิจการสามารถวางแผนรับมือกับปัจจัยภาคนอกเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านโยบายเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจของท่านโดยตรง